วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเรียนไฟใต้ “ยิ่งลักษณ์” อย่าเสี่ยงเล่นเกม ศอ.บต-กอ.รมน.!!

ต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลชุดที่แล้วต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มทวีความรุนแรงจนน่าตกใจ กิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และในระยะหลังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่ได้เลือกว่าเป้าหมายจะเป็นใคร เพราะศักยภาพในการทำลายล้างได้สูงขึ้น เพราะแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจต่างก็ตกเป็นเป้าหมาย ไม่ได้ต่างจากพลเรือน หรือพระสงฆ์แต่อย่างใด
      
       เหตุการณ์ร้ายล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในตัวเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มีคนเสียชีวิต 5 ศพ บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ในจำนวนนั้นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียรวมอยู่ด้วย 1 ศพ แต่ที่น่าสังเกตก็คือนี่คือการก่อการร้ายกลางใจเมือง และเป็นลักษณะคาร์บอมบ์ ทำให้อานุภาพการทำลายล้างสูง เป้าหมายเพื่อทำลายขวัญ ทำลายล้างระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
      
       หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้กลับมาทวีความรุนแรงจนยากจะควบคุมน่าจะเริ่มต้นในยุคของ รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการสร้างเงื่อนไขจาก รัฐตำรวจขึ้นมา โดยในครั้งนั้นได้มีการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลความสงบในพื้นที่แทนฝ่ายทหาร รวมไปถึงการยุบเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งที่ผ่านมาเป็นหน่วยงานทางด้านมวลชน ประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
      
       ขณะเดียวกับที่รัฐบาลในยุคนั้นก็ใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง มีการอุ้มฆ่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่ต้องทำยอด เพื่อแสดงผลงานจนนำไปสู่การ เหวี่ยงแหจับกุมเหมือนกับในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่รัฐบาลในยุคนั้นถูกกล่าวหาในเรื่อง ฆ่าตัดตอนละเมิดสิทธิมนุษยชน
      
       เหตุการณ์ความรุนแรงจนน่าเศร้าสลดกรณีมัสยิดกรือเซะ และตากใบ ถือเป็นชนวนสำคัญที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง และนำมาสู่การตอบโต้ และเกิดความไม่สงบนับตั้งแต่นั้นมา และที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารกองพันพัฒนา ที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 และนับจากนั้นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้แทบจะไร้ความควบคุมได้แล้ว
      
       สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ถือว่า ละเอียดอ่อนซับซ้อน และหมักหมมมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ปมทางประวัติศาสตร์ มีความแปลกแยกไปจากพื้นที่อื่นในประเทศ ดังนั้นใครที่จะแก้ปัญหาได้ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และรับรองว่าการแก้ปัญหาความไม่สงบไม่ใช่แก้ไขในเรื่องความอยุติธรรม ความเอารัดเอาเปรียบ เหมือนกับกรณีเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน เพราะยุ่งยากกว่าหลายเท่า
      
       อย่างไรก็ดี แนวทางที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือ เข้าใจ-เขาถึง-พัฒนา ของพระเจ้าอยู่หัว เพราะนี่คือวิธีการที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด อย่างไรก็ดีแม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ลงมาตั้งแต่รัฐบาล หน่วยงานทางความมั่นคงจะเน้นย้ำในแนวทางดังกล่าวอยู่เสมอ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าได้น้อมนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องครบถ้วนจริงหรือไม่
      
       จากสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ และล่าสุดมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองก็คือ กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จากคนปัจจุบัน คือ ภาณุ อุทัยรัตน์ มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วจะผลักดันคนของตัวเองคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรมมานั่งเก้าอี้ดังกล่าวแทน
      
       ทั้งที่เมื่อเปรียบเทียบประวัติการทำงานในพื้นที่ระหว่างสองคน ถือว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะคนแรกนั้นเติบโตวนเวียนอยู่ในชายแดนใต้ตั้งแต่รับราชการเป็นปลัดอำเภอ และหากจะโยกย้ายออกมาก็ด้วยเหตุผลแค่ได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลก่อน ไม่ใช่คนของตัวเองเท่านั้น ขณะที่คนหลังล้วนรับราชการอยู่ในส่วนกลางซึ่งส่วนใหญ่ค่อนไปทางรับใช้ใกล้ชิดรัฐบาลในยุค ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมา แม้ว่าในด้านความสามารถอาจจะยังวัดกันไม่ได้ แต่สำหรับพื้นที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้คนที่มีความเข้าใจและสัมผัสมาเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีบทเรียนมาแล้ว
      
       นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าจะเกิดแรงกระเพื่อมและเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีกก็คือ ข่าวผลักดันให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เข้ามาดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทั้งที่เมื่อหลายปีก่อนก็ได้สร้างภาพลบในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะมาแล้ว
      
       ทั้งสองความเคลื่อนไหวดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริงมันก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ เวลานี้ไม่ใช่เรื่องของการลองถูกลองผิดอีกแล้ว แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และเข้าใจสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับบุคคลทั้งสองคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี หากมีการบำเหน็จรางวัลในตำแหน่งอื่นน่าจะทำได้ แต่สำหรับการเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาชายแดนใต้ถือว่าไม่เหมาะสม และไม่สมควรเสี่ยงอย่างยิ่ง!!
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป