วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

“เหลิม” ห้าว ใครก็สั่งห้ามพูดไม่ได้ แถอีก ซื้อที่ดินรัชดาฯเป็นโมฆะ ศาลต้องตัดสิน “ทักษิณ” ใหม่

เป็ดเหลิมห้าว ปราบพวกคิดจะสั่งรูปซิปปาก ลั่นใครก็ห้ามไม่ให้พูดไม่ได้ พร้อมแถคดีที่ดินรัชดาฯเมื่อศาลแพ่งให้การซื้อขายเป็นโมฆะ ต้องคืนเงิน หญิงอ้อศาลฎีกาฯก็ควรนำกลับมาวินิจฉัยคำตัดสินใหม่ ขณะเดียวกัน พลิ้วเรื่องถวาบฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษไม่หยุด ระบุ การถวายฎีกา ต่างกับการขอขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจ
      
       
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งการหยิบยกกรณีการตัดสินของศาลแพ่งมาเปลี่ยนคำตัดสินตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองในคดีที่ดินรัชดาฯ ว่า ถ้าพูดเรื่องนี้ เดี๋ยวนักข่าวก็จะถามผมว่า มีคนห้ามให้ผมพูด ไม่มีหรอกเชื่อผมเถอะ ผมโตพอที่ ไม่ต้องมีคนห้าม และในเรื่องที่ถูกต้องใครก็ห้ามผมไม่ได้ เรื่องนี้ไม่มีใครห้ามผม
      
       ส่วนเรื่องการตัดสินของศาลแพ่ง กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เรื่องนี้ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ไปซื้อที่ดินรัชดาฯ ซึ่งสามีภรรยาที่ถูกต้องด้วยกฎหมายต้องมีทะเบียนสมรส เมื่อภรรยาจะไปทำนิติกรรม สามีต้องเซ็นยินยอม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยินยอมให้คุณหญิง พจมาน ไปซื้อที่ดินจากกองทุนฟื้นฟูฯ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญห้ามเจ้าหน้าที่รัฐไปทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ กองทุนฟื้นฟูฯก็ไม่ชัดว่าเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ เพราะก่อนซื้อได้ถามแบงก์ชาติ ก็ระบุว่าซื้อได้ ต่อมามีการปฏิวัติจึงมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาจาก คตส.ที่มีจากผู้ปฏิวัติแต่งตั้งขึ้นมา ล้มอำนาจรัฐบาลทักษิณ คตส.ทำการสืบสวนและระบุว่ามีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกฎหมาย ป.ป.ท.ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทำสัญญาซื้อขาย ตรงนี้ต้องเรียงลำดับให้ดี
      
       ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อไปถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะประชุมใหญ่มี 9 คน ซึ่งมี 5 คน เห็นว่า ผิดและอีก 4 คนเห็นว่าไม่ผิด แต่ในคำตัดสินไม่มีการบอกถึงการทุจริตตามที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามพูด มีแต่ผิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต่อมาภายหลังมีการฟ้องร้องกันที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งได้ตัดสินว่าสัญญาซื้อขายที่คุณหญิง พจมาน ทำสัญญาซื้อขายกับกองทุนฟื้นฟูฯเป็นโมฆะ ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นก็กลับมาที่เดิม คุณหญิง พจมาน ต้องคืนที่เดินให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ ขณะที่กองทุนฟื้นฟูฯก็คืนเงินให้คุณหญิง พจมาน มันเป็นข้อวินิจฉัยหลังเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ต้องถามต่อว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินข้อเท็จจริงนี้มันยังไม่มี ศาลฎีกาฯจึงพิจารณาเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีการตัดสินว่าสัญญาเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นนักกฎหมายก็วิเคราะห์ว่าเมื่อการซื้อขายไม่เกิดขึ้นแล้วพ.ต.ท.ทักษิณต้องถูกจำคุก 2 ปี เพราะมีการซื้อขายที่ดินมันจะต้องทำอย่างไร
      
       “พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีอาญา 2526 ระบุว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถรื้อฟื้นคดีอาญาได้ แต่ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เป็นสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การขอรื้อฟื้นคดีศาลอาจจะไม่รับก็ได้ หรืออาจจะรับไว้พิจารณา แต่ยืนยันเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จบ ผมอธิบายละเอียดสุดแล้ว ฝ่ายค้านจะมาพูดทำไม จะมายืนกระทู้สดทำไม กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ มีสิทธิ์ยื่นคำร้องโดยมอบหมายให้ทนายความ แต่ท่านจะใช้หรือไม่ตนไม่ทราบ และเมื่อท่านใช้สิทธิ์ศาลจะรับหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของศาล และเมื่อรับแล้วจะใช้ดุลยพินิจอย่างไรก็เป็นเรื่องของศาล มันเรื่องอะไรของชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้อง
      
       ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า สำหรับการถวายฎีกากับการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นคนละเรื่องกัน คนเสื้อแดงโดย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้นำรายชื่อยื่นต่อสำนักพระราชวังขอถวายฎีกา ทางราชเลขาธิการก็ได้ถามรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าคิดอย่างไร ถ้าไม่ให้ก็ทำความเห็นประกอบฎีกาส่งกลับไปสำนักราชเลขาธิการ แต่กลับเก็บไว้ 2 ปี 7 เดือน เก็บไว้ทำไม ก็ส่งไปกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจสอบรายชื่อว่ามี 2 ล้านรายชื่อที่ถูก อีก 1.6 ล้านรายชื่อไม่ถูก ก็ทำเอาไว้จนกระทั่งยื่นกลับมา และมีข่าวว่า 2 ล้านรายชื่อที่ถูกจะส่งตรวจสอบที่กรมการปกครองอีก
      
       อย่างไรก็ตาม การขอพระราชทานอภัยโทษ มันเป็นเรื่องของผู้ที่ถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาล และอยู่ในเรือนจำก็ขออภัยโทษมายัง รมว.ยุติธรรม จากนั้นก็ส่งไปให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งงานนี้นายกฯมอบหมายให้ตนรับผิดชอบเรื่องการอภัยโทษ ตนก็เซ็นไปเยอะแล้ว เมื่อกระทรวงยุติธรรมบอกว่ารับแล้วเห็นควรว่ายกฎีกาไม่ควรรับ หรือเห็นควรยกโทษ เมื่อมีความเห็นมาตนก็ต้องกราบบังคมทูลฯ เป็นพระราชอำนาจ
      
       “แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ขออภัยโทษเหมือนคดีทั่วไป แต่เป็นเรื่องของการถวายฎีกา แต่ปัญหาคือพรรคประชาธิปัตย์เอากฤษฎีกาปี 2550 ที่ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งนั่นเป็นกรณีเฉพาะราย แต่พอมาปี 2553 ทรงอภิเษกสมรสครบ 60 ปี ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องออกกฤษฎีกาหลักเกณฑ์ พอจบก็จบกัน ปีนี้ 2554 ก็ไม่รู้ว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯอย่างไร จะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างไร เป็นพระราชอำนาจชัดเจน จะได้ไม่ต้องถามกันอีก นอกจากนี้ เรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องของการถวายฎีกา ราชเลขาธิการเขาถามว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์คิดอย่างไร และเมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไปก็มาเป็นรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้ก็ต้องมีความเห็นประกอบ ถึงจะประกอบอย่างไรสุดท้ายก็เป็นพระราชอำนาจ
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการนิรโทษกรรมและถวายฎีการัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีใครคิด แต่ต้องเห็นใจ เวลาหาเสียงจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เมื่อให้ความเป็นธรรมทุกคนจะไปยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะอะไร ต้องทำใจให้เป็นธรรม ตนยืนซดได้ทุกหมัด ไม่ได้ท้าทาย แต่อะไรที่ไม่ถูกก็ไม่เอา อะไรที่ไม่มีเหตุผลก็ไม่เอา ตนไม่ใช่เทวดาที่จะพูดเรื่องเท็จเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ได้เห็นดีกัน
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป