วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ป้าย “เขาพระวิหาร” จ.ศรีสะเกษ สะกด Preah Vihear ตามแบบเขมร

เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผย แขวงการทาง จ.ศรีสะเกษ ติดตั้งแผ่นป้ายบอกทางสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ทั่วจังหวัด ร่วม 30 แห่ง ป้ายระบุทิศทางไปปราสาทเขาพระวิหาร ใช้ตัวสะกดภาษาอังกฤษ ว่า Preah Vihear ตามอย่างเขมร แทนที่จะสะกดว่า Phrawihan ที่กรมทางหลวงเคยใช้มาแต่เดิม แม้มีเรื่องร้องเรียนถึงจังหวัด แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
              เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่ข่าวระบุว่า แหล่งข่าวในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ของฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จังหวัดศรีสะเกษทำการติดตั้งป้ายบอกทางใหม่ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิเช่น น้ำตกภูละออ ผามออีแดง รวมถึงปราสาทพระวิหาร ป้ายใหม่ที่มีข้อความบอกทาง ซึ่งใช้คำว่า ปราสาทเขาพระวิหารตามรายงานมีจำนวนทั้งสิ้นร่วม 30 ป้าย กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วจังหวัดศรีสะเกษ โดยแหล่งข่าวให้ข้อมูลว่าเป็นการดำเนินการของแขวงการทางศรีสะเกษ ในสังกัดสำนักทางหลวงที่ 7 (อุบลราชธานี) ซึ่งมี นายวิเชษฐ์ วรรธนะโสภณ เป็นผู้อำนวยการแขวงฯ
      
       เป็นที่สังเกตว่า ภาษาอังกฤษที่เขียนกำกับใต้ภาษาไทย สะกดด้วย “Khao Preah Vihear Sanctuary” ซึ่งคำว่า “Preah Vihear” (ออกเสียง เปรี๊ยะ-วิ-เฮียร์) เป็นวิธีสะกดและออกเสียงอย่างเขมร หากไม่ให้ความสำคัญกับการประกอบคำที่ผิดหลักภาษา คือ การใช้ Khao + Preah Vihear และการใช้ Sanctuary ซึ่งมีความหมายอย่างกว้าง ประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถาม คือ ทำไมแขวงการทางศรีสะเกษ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ จึงเลือกสะกดด้วย “Preah Vihear” แทนที่ “Phrawihan” ตามอย่างวิธีสะกดของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทใช้มาแต่เดิม หรือ “Phra Viharn” ตามแบบของกระทรวงการต่างประเทศและที่ใช้กันโดยทั่วไป
      
       ในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC ชื่อเรียกปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นถกเถียงหนึ่ง โดยตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันชื่อเรียก ปราสาทพระวิหารขณะที่ฝ่ายกัมพูชาเรียกปราสาทเปรี๊ยะวิเฮียร์จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเป็นที่ยุติ
      
       หากไม่พิจารณาประเด็นที่มาชื่อเรียกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และความจริงที่ว่าตัวสะกดชื่อปราสาททั้งในภาษาไทย และภาษาเขมร ต่างเขียนตรงกัน ซึ่งหากถอดตัวอักษรจะได้ว่า พระวิหารส่วน เปรี๊ยะวิเฮียร์เป็นเพียงวิธีการออกเสียงตามลักษณะภาษาเขมรเท่านั้น ประกอบกับการทำความตกลงชื่อเรียกใน JBC ยังไม่เป็นที่ยุติ และประเทศไทยก็เรียกว่าพระวิหารมาแต่เดิม จึงไม่มีเหตุจำเป็นใดที่ส่วนราชการไทยจะเปลี่ยนจาก “Phrawihan” ไปเป็น “Preah Vihear” ตามอย่างเขมร
      
       การใช้ “Preah Vihear” ในประเทศไทย เท่าที่ปรากฏมีเพียงหนังสือพิมพ์ไทยฉบับภาษาอังกฤษ สองฉบับเท่านั้น ซึ่งอาจเพราะความเชื่อที่สมมติเอาว่าเป็นสากล แต่ทว่าป้ายบอกทางของกรมทางหลวง ซึ่งมีลักษณะเป็นทางการ และเป็นทรัพย์สินของราชการนั้น การเปลี่ยนมาใช้คำตามอย่างเขมรดังกล่าว ควรต้องมีคำอธิบายและต้องมีผู้รับผิดชอบ กรณีที่เกิดขึ้น แหล่งข่าวรายงานว่ามีผู้ร้องเรียนไปยังจังหวัดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข หรือแสดงความรับผิดชอบแต่ประการใด
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป